วัตถุประสงค์ของนาฬิกาก็คือการใช้บันทึกเวลาอย่างเที่ยงตรงเพื่อบอกเราเกี่ยวกับเวลา มุมมองของเวลาจึงถูกแบ่งออกเป็น อดีต ปัจจุบัน และอนาคตโดยปริยาย
อดีตนั้นเกิดขึ้นแล้วจึงถูกผลักไปเป็นประวัติศาสตร์ อนาคตยังคงลางเลือนและไร้ระเบียบ และปัจจุบัน –เวลานี้-ช่วงเวลาแห่งความเป็นจริงอันประจักษ์ชัด นั่นทำให้-เวลานี้-จึงเป็นเวลาที่สำคัญซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกันทั่วทั้งจักรวาล
เวลานี้ของคุณ และเวลานี้ของผมล้วนเป็นเช่นเดียวกันไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน และกำลังทำอะไร นี่เป็นภาพที่สอดคล้องกับเวลาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มีบางคนที่คิดเกี่ยวกับเวลาอย่างแตกต่างออกไป แต่นั่นมันผิด—ผิดอย่างร้ายแรงและลึกซึ้ง
—พอล เดวิส จาก “ฮาว ทู บิลด์ อะ ไทม์ แมชชีน“
การเดินทางข้ามเวลา [1] (Time Travel) เป็นแนวคิดเรื่องการเคลื่อนที่ (ที่มักจะทำให้เกิดขึ้นโดยฝีมือของมนุษย์) ระหว่างจุด 2 จุดที่มีความแตกต่างกันในห้วงเวลา หรือ ระหว่างห้วงเวลาหนึ่งไปยังอีกห้วงเวลาหนึ่ง ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับการเคลื่อนที่ระหว่างจุด 2 จุดที่มีความแตกต่างกันในพื้นที่ หรือ ปริภูมิ (space) ในลักษณะย้อนสู่อดีตหรือมุ่งสู่อนาคต โดยไม่จำต้องประเชิญห้วงเวลาที่คั่นระหว่างจุดเริ่มต้นกับจุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจอาศัยเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า “จักรกลข้ามเวลา” (time machine) ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในนิยายหรือสมมุติฐานก็ตาม
แม้การเดินทางข้ามเวลาได้เป็นหัวเรื่องยอดนิยมในบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ (science fiction) มาแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และมีทฤษฎีมากหลายว่าด้วยวิธีเดินทางข้ามเวลา ทว่า บัดนี้ ตามกฎแห่งฟิสิกส์แล้วยังไม่ปรากฏว่ามีหนทางช่วยย้อนอดีตหรือลัดสู่อนาคตแต่ประการใด การเดินทางข้ามเวลาเป็นแนวคิดที่ได้รับการยอมรับในทางปรัชญาและในนิยายแต่ก็มีการยอมรับสนับสนุนที่จำกัดมากในทางฟิสิกส์ทฤษฎีที่มักจะใช้ร่วมกับกลศาสตร์ควอนตัมหรือทฤษฎีสะพานไอน์สไตน์–โรเซน (Einstein–Rosen bridge)
ในส่วนของภาคนิยาย นับกันว่านิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนขึ้นในปี 1895 มีชื่อเรื่องว่า เดอะ ไทม์แมชชีน โดย เอช. จี. เวลส์ เป็นหลักไมล์สำคัญ ในเรื่องมีการเครื่องจักรในการเคลื่อนย้ายตัวละครเอกในเรื่องให้สามารถเดินทางผ่านข้ามกาลเวลาย้อนกลับไปในห้วงเวลาในอดีตหรือก้าวล่วงไปสู่อนาคตได้ตามแนวความคิดของการเดินทางข้ามเวลาตามจินตนาการที่เป็นที่นิยมอย่างมากของสาธารณชนทั่วไปในยุคสมัยนั้น แต่กระนั้นก็มีเรื่องสั้นที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้คือ เรื่อง “นาฬิกาที่เดินถอยหลัง” (The Clock That Went Backward) โดย เอ็ดเวิร์ด เพจ มิทเชลล์ (Edward Page Mitchell) เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้นาฬิกาโดยวิธีการใช้ไม่ได้ระบุเอาไว้อย่างแน่ชัดส่งผลให้ชายสามคนสามารถเดินทางข้ามเวลาย้อนกลับไปสู่อดีตได้ รูปแบบของการเดินทางข้ามเวลาที่ไม่ใช่เทคโนโลยีก็มีปรากฏตัวอยู่ในหลายเรื่องก่อนหน้านี้ เช่น นวนิยายของ ชาร์ลส์ ดิกคินส์ เรื่อง อะคริสต์มาสแครอล (A Christmas Carol)
ประวัติย่อของการเดินทางข้ามเวลา[2]
ค.ศ. | เหตุการณ์สำคัญ |
1895 | เอช จี เวลส์ ตีพิมพ์นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง เดอะ ไทม์ แมชชีน |
1905 | อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ประกาศ ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ มีการพยากรณ์ถึง การยืดออกของเวลา แสดงให้เห็นว่าการเดินทางข้ามเวลาไปสู่อนาคตได้โดยการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง |
1908 | ไอน์สไตน์ คาดคะเนว่า แรงโน้มถ่วงทำให้เวลาช้าลง |
1915 | ไอน์สไตน์ ประกาศ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป |
1916 | คาร์ล ชวาร์สชิลด์ แสดงถึงแนวคิดนำ หลุมดำ และรูหนอน (Blackhole/Wormhole) มาใช้ในทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป เป็นครั้งแรก |
1916 | ลุดวิก แฟลมม์ ค้นพบคุณสมบัติของรูหนอนที่ตรงกับแนวความคิดของ ชวาร์สชิลด์ |
1917 | ไอน์สไตน์ นำเสนอ แรงผลักของจักรวาล—เริ่มที่จะมีคาดหมายถึงเรื่องการ ‘ต้านแรงดึงดูด’ |
1934 | มีการพยากรณ์ถึงหลุมดำที่เกิดจากการหดตัวของดวงดาว |
1935 | เริ่มถกกันถึงทฤษฎี สะพานไอน์สไตน์–โรเซน (Einstein–Rosen bridge) หรือ รูหนอน |
1937 | ดับบลิว เจ ฟาน สต็อกกัม ค้นพบวิธีแก้สมการแรกของไอน์สไตน์ด้วย ลูปเวลา (Time loops) |
1948 | จากการค้นพบว่าจักรวาลมีการหมุนของ คูร์ท เกอเดิล นั้นส่งผลให้การท่องเวลาเป็นไปได้ อนึ่งรูปแบบของกาล-อวกาศในกรอบทฤษฏีสัมพัทธภาพทั่วไป ยังมีผลทำให้สามารถเดินทางกลับไปสู่อดีตได้ |
1948 | ค้นพบ ปรากฏการณ์คาซิเมียร์ (The Casimir effect) เริ่มมีการถกกันถึงเรื่องพลังงานลบในสภาวะควอนตัม |
1957 | จอห์น วีลเลอร์ คาดคะเนถึงการคงอยู่ของ รูหนอน |
1957 | ฮิวห์ เอเวอเร็ทท์ ที่ 3 นำเสนอความคิดเกี่ยวกับ พหุจักรวาล และ ความเป็นจริงคู่ขนาน จากการ ตีความด้วยกลศาสตร์ควอนตัม |
1963 | ซีรีย์ชุด ด็อกเตอร์ ฮู เริ่มฉายทางโทรทัศน์ BBC |
1963 | รอย เคอร์ ค้นพบว่าหลุมดำที่หมุนคว้าง (spinning blackhole) จะทำให้เกิด ลูปเวลา |
1974 | ซิกนัส X-1 วัตถุที่ปลดปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาจากกลุ่มดาวหงส์ ได้ถูกค้นพบโดยดาวเทียมตรวจจับเอ็กซ์เรย์ เป็นวัตถุต้องสงสัยว่าจะเป็นหลุมดำหลุมแรกที่ถูกค้นพบ |
1976 | แฟรงค์ ไทเพลอร์ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการเดินทางข้ามเวลาเมื่ออยู่ใกล้วัถถุจานหมุนอนันต์ |
1977 | เริ่มมีการถกว่า หลุมดำแบบหมุนวน เป็นประตูสู่จักรวาลอื่น |
1985 | ภาพยนตร์เรื่อง แบค ทู เดอะ ฟิวเจอร์ ออกฉาย |
1985 | คาร์ล ซาแกน เขียนนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง คอนแทค |
1989 | คิป ธอร์น เริ่มศึกษาเรื่อง การเดินทางข้ามเวลาผ่านรูหนอน |
1990 | สตีเฟน ฮอว์กิ้ง นำเสนอแนวคิดเรื่อง การคาดคะเนการป้องกันของลำดับเหตุการณ์ (chronology protection conjecture) |
1991 | เจ. ริชาร์ด ก็อตต์ ที่ 3 นำเสนอแนวคิด การเดินทางข้ามเวลาด้วยสายใยจักรวาล (Cosmic-String) |
1999 | ไมเคิล คริชตัน ตีพิมพ์หนังสือนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง “ไทม์ไลน์” |
2014 | คริสโตเฟอร์ โนแลน ได้สร้าง ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ อินเตอร์สเตลลาร์ ทะยานดาวกู้โลก อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศโดยผ่านทางรูหนอน ถูกสร้างอ้างอิงตามหลักการจักรวาลวิทยาโดย คิป ธอร์น |
[1] https://th.wikipedia.org/wiki/การเดินทางข้ามเวลา
[2] Davies, Paul (2002). How to Build a Time Machine. Penguin Books Ltd. ISBN 0-14-100534-3.